เว็บไซต์​ ดร.สมชาย​ หาญ​หิรัญ​ ช่องทางอีกช่องทางหนึ่งในการแลกเปลี่ยนความคิด ความรู้และข่าวสารครับ

thzh-CNenja

เล่าตามที่เห็นพูดตามที่คิด แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับ 13: ไปทางไหนดี

ที่มา https://www.thansettakij.com/content/columnist/477258

ผมเข้าใจนะครับว่าหากใครอ่านหัวเรื่องที่ผมจั่วข้างบนแล้วคิดว่า ทำไปเถอะอะไรก็ได้ เดี๋ยวมันก็เหมือนที่ผ่านมา พูดกว้าง ๆ พูดอะไรก็ถูก แต่พอเอาไปปฏิบัติแล้วก็เละไม่มีทิศทาง และยิ่งการเมืองไม่นิ่งแล้วยิ่งไปกันใหญ่ เดี๋ยวใครมาเป็นรัฐบาลก็เปลี่ยนแผน เพราะที่ผ่านมา 12 ฉบับก็เห็นแล้วว่าไม่ได้ผลเหมือนที่พูดในแผนเลย

แต่หากมองอย่างเข้าใจและแฟร์ ๆ แล้ว เราจะเห็นว่าประเทศไทยเดินมาถึงวันนี้เพราะเรามีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมาตลอด เพียงแต่การถอดไปสู่ทางปฏิบัติอาจไม่ได้ผลเท่าที่หวัง อาจเป็นเพราะหลายเหตุผล ทั้งงบประมาณ การเมือง ระบบราชการและช้าราชการ สถานการณ์เฉพาะหน้าที่รุนแรงต่าง ๆ และปัจจัยอื่นอีกจิปาถะ แต่ผมก็ยังเชื่อว่าเราเดินมาถึง

ทุกวันนี้เพราะเรามีแผนที่บอกทิศทางการพัฒนาในภาพรวม เพียงแต่ไม่ไปไกลอย่างที่ใจเราหวัง เท่านั้นเอง 

เมื่อไม่กี่วันก่อนสงกรานต์ ผมได้รับเชิญจากสภาพัฒน์ฯ ให้ไปร่วมประชุมระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ซึ่งเขาก็อธิบายถึงบทบาทและความสำคัญ แนวทางการจัดทำแผน ขั้นตอนต่าง ๆ รวมทั้งการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ตามระเบียบ แต่พวกเราที่มาวันนั้นเป็นกลุ่มนักวิชาการ อาจเป็นเพราะคุยกับพวกนักวิชาการก่อนน่าจะดีกว่า หากพวกนี้รู้ทีหลังเดี๋ยวมากเรื่องมากความคิด ดังนั้น กลุ่มที่คุยกันกว่า 40 คน เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเกือบทั้งหมด

ผมถูกเชิญไปร่วมกลุ่มนี้อาจเป็นเพราะสอนหนังสือและเขียนบทความวิชาการมานานหลายสิบปี ซึ่งอันที่จริงทางสภาพัฒน์ฯ ก็เตรียมการร่างกรอบแผนฯ 13 ไว้แล้ว และกรอบแนวทางสำคัญที่เห็นจะมีลักษณะต่างจากแผนที่ผ่านมาก็คือ เป็นกลไกหลักในการถ่ายทอดยุทธศาสตร์ชาติไปสู่การปฏิบัติในเวลา 5 ปี และมีการกำหนดเป้าหมายและประเด็นการพัฒนาชี้ชัดเฉพาะเจาะจง ซึ่งต่างกับแผนพัฒนาฯ ที่ผ่านมาที่พยายามครอบคลุมทุกมิติทุกเรื่อง เรียกว่า จะเอาทุกอย่างและจบลงไม่ได้สักอย่าง

วันนี้ขอเล่ากรอบแนวคิดของร่างเบื้องต้นของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ที่สภาพัฒน์ฯ ร่างขึ้นมาเพื่อใช้ในการจัดระดมความคิด ถกเถียง หาข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะ เพื่อการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายในหนึ่งปีข้างหน้า ก่อนนำไปใช้ตั้งแต่ปี 2566 – 2570

การกำหนดกรอบแผนพัฒนาฯ ฉบับนี้ ทางทีมงานของสภาพัฒน์ฯ ไม่ใช่นึกจะวางกรอบแนวคิดตามอำเภอใจหรือตามความเห็นของใครคนใดคนหนึ่งนะครับ แต่วิเคราะห์ ศึกษา ว่าประเทศในอีก 5 ปีข้างหน้าต้องเจออะไรบ้าง และต้องทำอย่างไร ดังนั้น จึงได้มีการดูเรื่องแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงระดับโลก หรือ Mega Trend ซึ่งในรายละเอียด ผมดูแล้วก็ครอบคลุมในทุกเรื่องที่มีผลกระทบและสร้างโอกาสให้กับประเทศได้ครบถ้วน อาทิ ด้านเทคโนโลยีที่เข้าสู่ยุคดิจิทัลที่กระทบการทำงานของคนบางกลุ่มและเป็นโอกาสให้บางกลุ่ม รวมทั้งความเสี่ยงด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องโครงสร้างประชากรที่เริ่มสูงวัยมากขึ้น วิถีชีวิตผู้คน

ที่เปลี่ยนไปส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมและความคิด การขยายตัวของความเป็นเมือง การดูแลรักษาสาธารณสุข ภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เรื่องสิ่งแวดล้อมที่กลายเป็นปัจจัยต่อผู้คนในประเทศและการค้าระหว่างประเทศ ตลอดจนเรื่องการเมืองทั้งในและต่างประเทศที่มีความตึงเครียดมากขึ้น และนำเอาปัญหาระยะสั้นหรือเฉพาะหน้าที่จะอยู่กับเราอีกสักพักใหญ่ คือ เรื่องไวรัสโควิด-19 ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและเศรษฐกิจของเราอย่างมากและรวดเร็ว ยังไม่พอยังเป็นตัวเร่งการเปลี่ยนแปลงหลายสิ่งหลายอย่าง และเรื่องนี้ดูเหมือนสภาพัฒน์ฯ นำเอาเข้ามาเป็นตัวตั้งที่สำคัญในการวางกรอบการพัฒนาแผน 5 ปีนี้ด้วย

หลังจากดูแนวโน้ม Mega Trend และสถานการณ์โลกระยะสั้นแล้ว ก็นำมาพิจารณาร่วมกับสถานภาพของประเทศไทยที่เป็นอยู่ปัจจุบัน แล้วก็ถอดออกมาเป็นโอกาสและความเสี่ยง โดยมองในแต่ละด้านที่ประเทศไทยต้องตระหนักอย่างมากในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งมองในมิติต่าง ๆ ทั้งหมด 6 มิติ คือ ความมั่นคง ความสามารถในการแข่งขัน ทรัพยากรมนุษย์ โอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม และการบริหารจัดการภาครัฐ และในแต่ละมิตินั้นจะมีการกำหนดโอกาสและความเสี่ยง เป็นเรื่อง ๆ ไป เพื่อกำหนดแนวทางในการพัฒนาลงในรายละเอียดเจาะจงมากขึ้น ซึ่งนำมาสู่บทสรุปของการจัดทำแผน ฯ ฉบับที่ 13 ว่าควรมีเป้าหมายอย่างไรในการพัฒนาประเทศอีก 5 ปีข้างหน้า  

จนถึงวันนี้ก็พอมีการสรุปเบื้องต้นว่ากรอบของแผนพัฒนาฯ จะมีเป้าหมายหลัก คือ การพัฒนาประเทศสู่ “เศรษฐกิจสร้างคุณค่า สังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืน” โดยมีประเด็นหลัก 4 ประเด็น คือ

1. เศรษฐกิจมูลค่าสูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

2. สังคมแห่งโอกาสและความเสมอภาค

3. วิถีชีวิตที่ยั่งยืน

4. ปัจจัยสนับสนุนการพลิกประเทศ

โดยมีหมุดหมายย่อยในแต่ละประเด็นอีก 13 หมุดหมาย ที่กำหนดเป็นเป้าหมายใน 5 ปี ซึ่งดูแล้วก็เป็นประเด็นหลักที่น่าจะ “ใช่” ที่ทำให้เราเข้าสู่เป้าหมายหลัก ซึ่งวันนั้น ผู้เข้าร่วมเสวนาก็ดูเห็นด้วยอย่างเป็นเอกฉันท์ แต่คุยกันเรื่อง “เครื่องมือ” และ “วิธี” ว่าจะได้ตามเป้าที่วางไว้จะทำอย่างไร

ประเด็นหลัก

หมุดหมาย (Milestone)

เศรษฐกิจมูลค่าสูงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

(High Value-added Economy)

ไทยเป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง

ไทยเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวที่เน้นคุณค่าและความยั่งยืน

ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ของอาเซียน

ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง

ไทยเป็นประตูการค้า การลงทุนและจุดยุทธศาสตร์ทางโลจิสติกส์ที่สำคัญ

ไทยเป็นฐานการผลิตอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและบริการดิจิทัลของอาเซียน

สังคมแห่งโอกาสและความเสมอภาค

(High Opportunity Society)

ไทยมี SMEs ที่เข้มแข็ง มีศักยภาพสูง และสามารถแข่งขันได้

ไทยมีพื้นที่และเมืองหลักของภูมิภาคที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจ ทันสมัยและน่าอยู่

ไทยมีความจนข้ามรุ่นลดลง และคนไทยทุกคนมีความคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอและเหมาะสม

วิถีชีวิตที่ยั่งยืน

(Eco-friendly Living)

ไทยมีเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ

ไทยสามารถลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ปัจจัยสนับสนุนในการพลิกโฉมประเทศ

Key Enablers for Thailand’s Transformation)

ไทยมีกำลังคนสมรรถนะสูง มุ่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต

ไทยมีภาครัฐที่มีสมรรถนะสูง

 

จากนั้นก็มีการกำหนดขอบเขตเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายในแต่ละหมุดหมายทั้ง 13 หมุดหมายนั้น ประเทศไทยต้องมีการดำเนินการทำอะไรบ้างในแต่ละเรื่อง เช่น หมุดหมายที่ 3 เรื่อง ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของอาเซียน ในแผนฯ ฉบับนี้ก็กำหนดขอบเขตในการพัฒนาว่าเราต้องทำอะไรบ้าง เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยปรับตัวสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า มีการสนับสนุนการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า

รวมถึงการพัฒนาแรงงาน รถยนต์โดยสารสาธารณะในเมืองใหญ่ ๆ มีการปรับมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า หน่วยงานต่าง ๆ มีการปรับมาตรการและระเบียบเพื่อการสนับสนุนรถไฟฟ้าและลดผลกระทบกับรถยนต์แบบเดิม รวมทั้งการมีสถานีอัดประจุไฟฟ้าอย่างเพียงพอครอบคลุมเส้นทางคมนาคมสำคัญทั่วประเทศ ฯลฯ แม้ว่าจะดูกว้าง ๆ แต่หน่วยงานต่าง ๆ สามารถนำไปถอดเป็นแผนปฏิบัติงานตามภารกิจของตนเองได้

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนนะครับ ว่ากรอบที่คุยกันวันนั้นเป็นเพียงกรอบแผนเบื้องต้นที่นำมาหารือ ถามข้อคิดเห็น กับประชาชนทุกกลุ่ม ทุกสาขา ทุกอาชีพ เพื่อให้คนไทยทุกกลุ่มและทุกคนมีส่วนร่วมในการวางทิศทางการพัฒนาประเทศของเรา ในเวลาตลอดหนึ่งปีต่อจากนี้ไป ซึ่งน่าจะเข้ารัฐสภาเพื่อการพิจารณาก็คงปลายปีหน้า (2565) ดังนั้นใครที่ยังไม่รู้ข้อเท็จจริงก็อย่าเพิ่งด่าสภาพัฒน์นะครับว่านั่งเทียนเขียน เขาร่างมาจากการศึกษาทิศทางการพัฒนาของประเทศตามเทรนด์ของโลกในทุกมิติ ผนวกกับสถานภาพของประเทศเรา ก่อนมาเป็นร่างแผนพัฒนา ฯ และผมเชื่อว่าหลังจากได้หารือ ถามความคิดเห็นกับหลาย ๆ กลุ่มแล้ว กรอบแผนที่คุยกันวันนั้นคงจะมีการปรับปรุงและแตกต่างออกไปจากร่างเดิม

ทั้งหมดเป็นกรอบกว้าง ๆ ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ที่จะใช้เป็นเข็มทิการพัฒนาประเทศในปี 2566 ถึง 2570 ซึ่งสภาพัฒน์ฯ คงได้นำไปหารือกับคนไทยทุกกลุ่ม เพื่อให้ข้อคิดเห็น ปรับปรุง และเสนอแนะในการออกแบบเส้นทางเดินใน 5 ปีของประเทศไทย ต้องลองช่วยกันดูว่าขาดอะไร และต้องเติมอะไร สิ่งไหนที่ไม่เหมาะ ไม่ควรทำและควรทิ้งไป อะไรที่ต้องเร่งแก้ไขปรับปรุง อะไรที่ต้องสร้างใหม่ และผมเชื่อว่าการมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นที่สร้างสรรค์และจิตใจที่ต้องการพัฒนาประเทศจริง ๆเป็นสิ่งที่คนไทยทุกคนต้องการจากคนไทยด้วยกันเอง

ส่วนความคิดเห็นส่วนตัวของผม และผู้เข้าร่วมสัมมนาวันนั้น ผมเห็นว่ามีประเด็นสำคัญที่ทางผู้จัดทำแผนฯ อาจต้องพิจารณาอีกนิดนึง ซึ่งผมขออนุญาตนำมาเสนอในบทความหน้านะครับ

 

 

ที่มา https://www.thansettakij.com/blogs/columnist/tell-as-you-see

รวบรวมข้อมูลภาพ https://harnhirun.net/

---------------------------------------------

สนใจเรื่องราวแหล่งเรียนรู้ออนไลน์เพิ่มเติมคลิกที่นี่

เล่าตามที่เห็นพูดตามที่คิด รวมบทความจากฐานเศรษฐกิจ

---------------------------------------------