เว็บไซต์​ ดร.สมชาย​ หาญ​หิรัญ​ ช่องทางอีกช่องทางหนึ่งในการแลกเปลี่ยนความคิด ความรู้และข่าวสารครับ

thzh-CNenja

เล่าตามที่เห็นพูดตามที่คิด เหมืองในเมือง: จิ๊กซอว์สำหรับ S-Curve

ที่มา https://www.thansettakij.com/blogs/columnist/tell-as-you-see/504254

 

“เหมืองแร่” อาจเป็นกิจกรรมที่หลายคนมองเห็นแต่ด้านลบ ไม่ว่าเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่สามารถนำหวนกลับมาได้อีก หรือการก่อให้เกิดมลพิษทั้งต่อชีวิตและสุขภาพมนุษย์ หรือมลภาวะเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม โดยที่ผู้คนลืมไปว่า “แร่” คือสิ่งที่เราทุกคนจำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวัน

ตั้งแต่เช้าของวันที่เราลืมตาขึ้นมาจนถึงเข้านอนตอนค่ำ สิ่งของที่เราใช้ไม่ว่ายาสีฟัน แก้วน้ำ อ่างล้างหน้า สุขภัณฑ์ในบ้าน ช้อนส้อม จาน หม้อหุงข้าว รถยนต์ที่ใช้ไปทำงาน รวมทั้งถนนหนทางที่เราใช้เดินทางก็ทำมาจากแร่ หรือตึกที่ทำงาน แม้แต่คอมพิวเตอร์ที่เราใช้งานทุกวัน สิ่งทั้งหมดเหล่านี้ทำมาจากแร่ที่ผ่านกิจกรรมที่เรียกว่า “เหมืองแร่” ทั้งนั้น
วันนี้หลายคนปฏิเสธเหมืองแร่ แต่ก็ใช้สิ่งของที่เกือบทั้งหมดมาจากแร่ทุกวันอย่างไม่เคอะเขิน ผมนึกขำทุกทีที่นึกถึงภาพการประท้วงเหมืองแร่ที่คนประท้วงพูดป่าว ๆ ผ่านไมโครโฟนที่องค์ประกอบทั้งหมดทำมาจากแร่ ตั้งแต่ตัวไมค์ แบตเตอรี่ สายไฟ รวมทั้งกระดาษที่เขียนคำแถลงด่า อย่างไรก็ตาม หากเหมืองแร่ทำไม่ดี ไม่ได้มาตรฐานก็สมควรด่านะครับ ดังนั้นผู้ดูแล กำกับ ก็ต้องเข้มข้นในการตรวจสอบ และผู้ประกอบการก็ต้องมีจิตสำนึกในการดูแลผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนด้วย

ภาพเหมืองแร่ที่อยู่ในหัวเราทุกคนนั้น คือภาพของการขุดเอาทรัพยากรธรรมชาติแบบสิ้นเปลืองมาใช้ ทำลายสิ่งแวดล้อม และสารพัดที่ส่งผลเสียต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำให้ที่ยืนของกิจกรรมเหมืองแร่ในสังคมยิ่งน้อยลงเรื่อย ๆ แต่เพราะ การดำรงชีวิตของมนุษย์จำต้องใช้แร่ ดังนั้นเพื่อประณีประนอมกับกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทำให้แนวคิดของ Circular Economy ที่พยายามนำเอาผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากแร่นำกลับมาใช้ใหม่ (จะเป็นแบบ Reuse หรือ Recycle ก็แล้วแต่) 

โดยเฉพาะแร่ที่หายาก (Rare Earth) ที่เป็นวัสดุสำคัญในการผลิตส่วนประกอบและชิ้นส่วนของผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น โทรศัพท์มือถือ แบตเตอรี่ คอมพิวเตอร์ สายไยแก้ว ฯลฯ ซึ่งปัจจุบันความต้องการแร่เหล่านี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ประกอบกับแร่เหล่านี้กระจัดกระจายทั่วไปหรือติดกับแร่อื่น ๆ ทำให้การดึงออกมาจากธรรมชาติมีต้นทุนสูง ดังนั้นจึงมีความพยายามที่จะดึงเอาแร่ที่หายาก และมีราคาแพงเหล่านี้กลับมาใช้ใหม่จากซากผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้ว

แร่ที่หายากเหล่านี้มักเป็นแร่ที่มีราคาแพง ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะมีน้อยหรือหายาก แต่กระบวนการดึงจากธรรมชาตินั้นต้องใช้ต้นทุนสูงและการรวบรวมเนื่องจากกระจัดจายอยู่ทั่วไป หากดูจากตารางธาตุจะพบธาตุหายากในอนุกรมแลนทาไนด์ (Lanthanide Series) 15 ธาตุ และอีกสองธาตุนอกตารางธาตุ แต่ที่เรามักได้ยินและใช้ประโยชน์ในผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เราใช้ประจำก็คือ แลนทานัม ซีเรียม นีโอดีเมียม ซามาเรียม ยูโรเปียม เทอร์เบียม และดิสโพรเซียม ฯลฯ

ซึ่งมีคุณสมบัติทนความร้อนสูงจัดได้เยี่ยม มีคุณสมบัติแม่เหล็กแรงสูง นำไฟฟ้าได้ดี และเป็นมันเงา ซึ่งเหมาะสำหรับนำไปประยุกต์ใช้ในผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย ปัจจุบันประเทศจีนเป็นผู้ผลิตรายสำคัญของโลก ประมาณร้อยละ 95 และผู้นำเข้ารายใหญ่ คือ สหรัฐอเมริกา ซึ่งทำให้แร่หายากเหล่านี้ คือ ไพ่อีกใบที่สำคัญในสงครามการค้าระหว่างยักษ์ใหญ่สองขั้วนี้ และยิ่งทำให้เราต้องตระหนักถึงการเตรียมการความมั่นคงของแร่หายากเหล่านี้เพื่อเป็นวัสดุในการพัฒนาอุตสาหกรรมสมัยใหม่ของเราในอนาคต
เมื่อพิจารณาดูจากปริมาณแหล่งแร่นี้ในธรรมชาติในบ้านเราแล้ว ดูเหมือนการขุดค้นและทำเหมืองแร่เหมือนแร่ทั่วไป ไม่น่าจะใช่วิธีที่ทำได้ แต่การการสกัดเอาแร่หายากเหล่านี้ออกจากซากผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ใช้แล้วดูจะง่ายกว่า คุ้มค่ากว่า และสะดวกกว่ามาก อย่างไรก็ตาม กระบวนการแยก ย่อย สกัด และขจัดของเหลือ จากซากผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วนั้นจำต้องอาศัยความรู้ความชำนาญ เทคโนโลยี และการจัดการที่ดี เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินการ ซึ่งในขณะนี้หลาย ๆ ประเทศก็เริ่มทำในแนวทางนี้ โดยรวบรวมซากอิเล็กทรอนิกส์ที่อยู่ในชุมชนต่าง ๆ มีทำการแยกแร่หายากนี้ออกมาซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนาม Urban Mining หรือ เหมืองในเมือง คำว่าเหมืองในเมืองนี้ไม่ใช่คำใหม่ แต่มีมาเกือบ 40 ปี ที่ศาสตราจารย์ Hideo Nanjyo จากสถาบันวิจัยการแร่และโลหกรรม มหาวิทยาลัย โตโฮกุ ประเทศญี่ปุ่นได้เสนอแนวคิดและได้รับลงมืออย่างจริงจังในญี่ปุ่น ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างดี จากการศึกษาของสถาบันโลหกรรมวิทยาแห่งชาติ ญี่ปุ่นได้เสนอผลงานตีพิมพ์เผยแพร่ว่าในปี 2010 นั้น กิจกรรมเหมืองในเมืองของญี่ปุ่นสามารถดึงเฉพาะทองคำออกจากซากอิเล็กทรอนิกส์ได้กว่า 6,800 ตัน ไม่รวมโลหะมีค่าอื่น ๆ จากแนวคิดที่มีความเป็นไปได้ทางธุรกิจ และกระแสการรักษาสิ่งแวดล้อมนั้นทำให้สหภาพยุโรปเสนอ WEEE Directive ออกมาในปี 2012 เพื่อการจัดการซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และปัจจุบันระบบจัดการซากผลิตอิเล็กทรอนิกส์ตามแนวคิดเหมืองในเมืองถูกพบเห็นทั่วไป

สำหรับในประเทศไทยนั้น กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรมได้ก่อตั้งโครงการนี้ มาหลายปีแล้วและมีโรงงานต้นแบบเพื่อการพัฒนา วิจัย และเผยแพร่ความรู้ของการดึงเอาโลหะหายากจากซากอิเล็กทรอนิกส์ให้กับภาคอุตสาหกรรม ซึ่งโดยทั่วไปโลหะที่อยู่ในซากผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้แก่ เงิน ทองคำ สังกะสี ดีโอดีเนียม ซิลิกอน อลูมิเนียม ฯลฯ ซึ่งท่านอธิบดี นิรันดร์ ยิ่งมหิศรานนท์ ที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่ง ได้วางนโยบายผลักดันให้ศูนย์ฯ นี้ให้เป็นแหล่งความรู้ เทคโนโลยี ด้านการดึงเอาโลหะหายากและมีค่าเหล่านี้จากซากอิเล็กทรอนิกส์ โดยทำงานร่วมกันกับหน่วยงานต่าง ๆ และภาคเอกชน และเป็นแม่งานในการทำงานร่วมกับสภาอุตสาหกรรมและวุฒิสภา เพื่อวางแนวทางให้ โครงการเหมืองแร่ในเมือง เป็น “จิ๊กซอว์” สำคัญของการจัดการซากอิเล็กทรอนิกส์ตามแนวทางที่มีการร่าง พรบ. การจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ….. เพราะจะแสดงให้ภาพเชิงประจักษ์ว่าการจัดการซากผลิตภัณฑ์เหล่านี้สามารถทำได้ทั้งในทางเทคนิคและทางพาณิชย์ อันจะทำให้การจัดการเรื่องนี้เป็นไปอย่างยั่งยืน และเป็นแหล่งในการเตรียมความพร้อมวัตถุดิบในการสร้างวัสดุสมัยใหม่สำหรับอุตสาหกรรม S-Curve ที่ต้องการโลหะหายากเป็นวัตถุดิบ

ปัจจุบันศูนย์ฯ นี้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการสกัดโลหะหายากออกมาจากซากผลิตภัณฑ์ฯ ให้กับผู้ประกอบการหลายร้อยราย และมากกว่า 30 เทคโนโนโลยีก้เป็นการพัฒนาของศูนย์ฯ นี้เอง การมีโรงงานต้นแบบของการสกัดโลหะหายากได้ใช้เป็นแหล่งถ่ายทอดเทคโนโลยีและการวิจัยเทคนิคต่าง ๆ เพื่อการรีไซเคิลวัสดุเหลือใช้หรือซากผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ 
นอกเหนือจากซาก WEEE อาทิ ซากการรื้อถอนอาคารพาณิชย์ กากอุตสาหกรรม หรือน้ำเสียจากกระบวนการอุตสาหกรรม ที่ยังมีโลหะมีค่าและหายากปนเปื้อนอยู่ ฯลฯ ซึ่งการวิจัยและเผยแพร่ความรู้เหล่านี้ให้ผู้ประกอบการนับว่าช่วยเร่ง การพัฒนาการจัดการซากผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ให้มีประสิทธิภาพทางเทคนิค ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม และมีความเป็นไปได้ในเชิงพาณิชย์ได้มากขึ้น แต่วันนี้ กพร. ที่ท่านอธิบดี นิรันดร์ ยิ่งมหิศรานนท์ มองไปไกลกว่านั้น มองไปถึงการเตรียมความพร้อมและความมั่นคงของวัตถุดิบ เพื่อสนับสนุนการผลิตวัสดุสมัยใหม่สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งก็ตระหนักดีว่าการสกัดโลหะมีค่าและหายากจากซากผลิตภัณฑ์เหล่านั้นออกมาในสภาพธุรกิจปัจจุบันนี้ต้องการมากกว่าความรู้ด้านเทคนิค แต่ต้องมองตลอด ห่วงโซ่อุปทานของการจัดการซากผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะการจัดการด้าน Reverse logistics ที่ต้องรวบรวมซากผลิตภัณฑ์ให้ได้มากพอเพียงและมีประสิทธิภาพสำหรับการดำเนินธุรกิจ เพราะภายใต้โครงสร้างธุรกิจซากผลิตภัณฑ์

ในปัจจุบันที่มีผู้เล่นจำนวนมาก หลายส่วนด้อยประสิทธิภาพในการดำเนินงาน และขาดผู้ดูแลในภาพรวม ทำให้งานนี้เป็นงานหินสุด ๆ ดังนั้น กพร. จึงต้องมองภาพรวมทั้งห่วงโซ่ให้ออก มองภาพรูปแบบธุรกิจและแรงจูงใจของทุกผู้เล่น เพื่อวางรูปแบบการดำเนินงานของศูนย์ฯ แห่งนี้ให้เป็นมากกว่า “จิ๊กซอว์ที่ต้องมี” แต่จะเป็น “ตัวจุดประกาย” หรือ Ignitor ให้กับการจัดการซาก WEEE ทั้งระบบได้อย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพในทุกมิติต่อไป

 

ที่มา https://www.thansettakij.com/blogs/columnist/tell-as-you-see

รวบรวมข้อมูลภาพ https://harnhirun.net/

---------------------------------------------

สนใจเรื่องราวแหล่งเรียนรู้ออนไลน์เพิ่มเติมคลิกที่นี่

เล่าตามที่เห็นพูดตามที่คิด รวมบทความจากฐานเศรษฐกิจ

---------------------------------------------