เว็บไซต์​ ดร.สมชาย​ หาญ​หิรัญ​ ช่องทางอีกช่องทางหนึ่งในการแลกเปลี่ยนความคิด ความรู้และข่าวสารครับ

thzh-CNenja

เล่าตามที่เห็นพูดตามที่คิด รู้วันตาย ตั้งแต่เกิด

ที่มา https://www.thansettakij.com/blogs/columnist/tell-as-you-see/505593

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมานั้นอุตสาหกรรมแฟชั่นและเสื้อผ้า ใช้กลยุทธ์ทางด้านแฟชั่น ราคา และแบรนด์ ในการ ทำธุรกิจ แต่วันนี้ ผู้ผลิตได้หันมาจูงใจให้ผู้ใช้หันมานิยมเสื้อผ้าที่มีราคาถูกจากการผลิตที่เป็น mass production

และจากสิ่งทอที่มีคุณภาพต่ำ มีการออกแบบที่ดีแต่เปลี่ยนแปลงบ่อย ๆ ราคาไม่สูง หรือที่เรียกว่า fast fashion ซึ่งทำให้อายุของเสื้อผ้าเหล่านี้ในตลาดมีอายุสั้น พอใช้ได้ไม่นานนักก็มีรุ่นใหม่ออกมา 
และของเก่าก็ถูกเก็บออกจากตลาด แม้ว่าหลายชิ้นอาจจะยังอยู่ในสภาพที่ดี แต่ก็ตกเทรนด์ ไม่เป็นที่นิยม ทำให้ไม่มีความต้องการในตลาดอีกต่อไป และจากการศึกษา ของ 15 ประเทศในยุโรปนั้น พบว่าสินค้าเหล่านี้ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ยังอยู่ในตลาดในรูปแบบของเสื้อผ้ามือสอง อีก 8% ถูกส่งกลับไปรีไซเคิล ที่เหลือนั้นกลายเป็นขยะซึ่งกำลังเป็นปัญหาใหญ่ของยุโรปในวันนี้
เรื่องนี้ไม่ได้เกิดแค่อุตสาหกรรมเสื้อผ้าหรือแฟชั่นเท่านั้น แต่ยังเป็นปัญหาใหญ่ของโลกในผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าซึ่งอายุของผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะสั้นลงอย่างต่อเนื่อง เพราะผู้ผลิตได้วางแผนให้สินค้าเหล่านี้ ถูกทิ้งจากมือของผู้บริโภคโดยอาศัยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและแฟชั่นซึ่งก็เป็นที่เข้าใจได้ในการทำธุรกิจ ที่ตลาดมีการแข่งขันสูงผู้ผลิตพยายามที่จะออกสินค้ารุ่นใหม่ๆ ออกมาเพื่อทดแทนรุ่นเก่าของตัวเอง 

โดยอาศัยเทคโนโลยี ที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ทำให้เครื่องเก่าที่อยู่ในมือของลูกค้านั้นหมดอายุ ล้าสมัย หรือใช้งานได้ไม่ดีเท่ากับของใหม่ ทำให้ของเหล่านั้นถูกทิ้งจากผู้บริโภคทั้งๆ ที่ยังสามารถใช้งานได้เหมือนเดิมทุกประการก็ตาม กลยุทธ์ทางธุรกิจนี้ทำให้ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์หรือเสื้อผ้าหมดอายุในเวลาอันรวดเร็วในสายตาผู้บริโภค ไม่ใช่เพราะประโยชน์ในการใช้ 
แต่เป็นเพราะการวางแผนของผู้ผลิตและผู้ขายที่วางแผนล่วงหน้ามาแล้วว่าเมื่อไหร่ที่ผลิตภัณฑ์ของตัวเองที่จะออกขายนั้นหมดอายุ ล้าสมัย หมดค่าในความรู้สึกของผู้บริโภค และต้องเปลี่ยนรุ่นใหม่ ซึ่งเราเรียกกลยุทธ์นี้ว่า Plan of Obsolesces ดังนั้นผลิตภัณฑ์ทุกตัวที่จะวางตลาดนั้น นอกจากวางแผนกำหนด “วันคลอด” สู่ตลาดแล้ว ยังวางแผน “วันตาย” ไว้พร้อมด้วยเรียบร้อยแล้ว อายุของสินค้าเหล่านี้ในตลาดถูกกำหนดให้ยาวหรือสั้นเท่าใดนั้น ขึ้นอยู่กับสภาพการแข่งขัน หากมีคู่แข่งจำนวนมาก อายุสิ้นค้าเหล่านี้ก็จะสั้น ปกติจะใช้กลยุทธ์ทางด้านเทคโนโลยีและแฟชั่น หากมองในมุมธุรกิจ ก็ถือว่ากลยุทธ์นี้มีแรงจูงใจที่สำคัญ ที่ทำให้ธุรกิจพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ตามนวัตกรรมที่ก้าวหน้าและรสนิยม แฟชั่นของลูกค้า ที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการตลาด 

เพราะหากเราไม่ออกผลิตภัณฑ์ใหม่มาเพื่อฆ่าหรือเปลี่ยนของเก่า ในมือลูกค้าในเวลาที่เหมาะสมแล้ว ก็จะมีคู่แข่งออกสินค้าใหม่มา “ฆ่า” สินค้าของเราเอง ดังนั้น เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดและความได้เปรียบทางธุรกิจ ส่งผลทำให้ธุรกิจต้องเร่งออกผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่องตามความก้าวหน้าและรวดเร็วของนวัตกรรม และแฟชั่น ยิ่งความรุนแรงของการแข่งขันในตลาดมีมากเท่าใด วัฏจักรการออกสินค้าใหม่ก็ยิ่งเร็วเท่านั้น ทำให้สินค้าเก่า ๆ ถูกทิ้งออกจากมือลูกค้า ทั้ง ๆ ที่อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ก็ตาม แต่หากมองในมุมมองของสังคมและสิ่งแวดล้อมแล้ว ถือว่าเป็นการใช้ทรัพยากรของโลกที่มีจำกัดเกินความจำเป็น และที่ร้ายไปกว่านั้น เป็นการสร้างมลภาวะให้กับสิ่งแวดล้อมจากการจัดการเรื่องซากผลิตภัณฑ์ ทั้ง ๆ ที่ของเหล่านั้น ไม่ควรจะเป็นซากด้วยซ้ำไป หากมองที่ประโยชน์ในการใช้งาน แม้จะมีตลาดรีไซเคิล หรือตลาดมือสองรองรับเพื่อขยายอายุได้บ้างก็ตาม แต่รองรับได้ในสัดส่วนที่น้อยและยืดเวลาได้ไม่มาก เพราะเทคโนโลยีก้าวหน้าไว และยิ่งเป็นสินค้าแฟชั่น คงไม่มีใครอยากใช้ของตกสมัย เนื่องจากสิ่งที่สูญเสียนั้นสำคัญมาก คือ “หน้าตา”

ดังนั้น จึงไม่แปลกใจที่เราจะเห็นว่าสินค้าใดก็ตามที่สภาพธุรกิจมีการแข่งขันสูง อาทิ ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์และเสื้อผ้า ซึ่งทั้งสองอย่างนี้จะใช้นวัตกรรมและแฟชั่นเป็นตัวกำหนดอายุทางการตลาดของผลิตภัณฑ์ หากแฟชั่นหรือความก้าวหน้าของเทคโนโลยีนั้นไปไว ยิ่งทำให้อายุของผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ๆ จะมีอายุสั้นลงเท่านั้น ดังนั้น เราจึงไม่แปลกใจที่จะเห็นผลิตภัณฑ์ของบริษัทต่างๆ ใน 2-3 อุตสาหกรรมนี้มักอยู่ในตลาดไม่นาน เรื่อง Fast Fashion ในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าแฟชั่นที่ถูกจริตคนเจนเนอเรชั่นใหม่ที่ไม่ต้องการความจำเจ ผูกพัน ไม่ยึดติด ทำให้ตลาดเสื้อผ้าราคาไม่แพง เปลี่ยนรูปแบบอย่างรวดเร็ว fast fashion กลายเป็นที่นิยม และตามมาด้วยขยะมหึมา เช่นดียวกับซากอิเล็กทรอนิกส์ก่อนหน้านี้ ยุโรปเคยมีกฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ หรือ WEEE มาแล้ว และเราก็กำลังพยายามที่จะออกกฎหมายนี้ในประเทศไทย ก็ต้องลองดูครับบอกความจริงใจของผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดในเวทีนี้ จะทำอย่างไร และในวันนี้ยุโรปก็ออกกติกาใหม่ที่จะวางแผนการจัดการซากเสื้อผ้าซึ่งมีจำนวนมหาศาลในวันนี้ ซึ่งจำนวนของเสื้อผ้าที่กลายเป็นขยะในแต่ละประเทศนั้น

โดยเฉพาะประเทศที่เป็นเมืองแฟชั่น อาทิ ในอิตาลีมีขยะเสื้อผ้าสูงถึง 465,925 ตันต่อปี เยอรมัน และฝรั่งเศส มี 391,752 และ 210,000 ตันต่อปี และมีตลาดมือสองรองรับไม่ถึง ร้อยละ 10 ด้วยซ้ำไป ที่ผ่านมา ยุโรปได้ออก WEEE Directives ขึ้นมาจัดการซากผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าแล้วกว่า 15 ปี ส่วนขยะเสื้อผ้านี้ สหภาพยุโรปได้กำหนดกลยุทธ์จัดการเรื่องนี้ ชื่อ “STRATEGIC AGENDA ON TEXTILE WASTE MANAGEMENT AND RECYCLING” เพื่อกำหนดแนวทางการจัดการป้องกันการเพิ่มขึ้นของขยะเสื้อผ้า สิ่งทอในยุโรป ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ผู้ที่สร้างความตระหนักนี้ คือองค์กร WRAP ซึ่งเป็น NGO ที่สู้เรื่องนี้มาตลอดทั้ง เรื่องซากอาหาร ซากสิ่งก่อสร้าง และอื่น ๆ ซึ่ง WRAP เป็นบริษัทให้คำปรึกษาและรับรองเรื่องต่าง ๆ ที่เป็นประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม และมีการนำเสนอเรื่องนี้ที่การประชุม Climate Summit: COP 26 ที่ประเทศสก๊อตแลนด์เมื่อเร็ว ๆ นี้ด้วย แม้ว่าจะเป็นองค์กรที่ไม่หวังผลกำไร แต่ก็ต้องมีรายได้เพื่อดำเนินงานและเป็นค่าตอบแทนตนเอง ก็พอเข้าใจในประเด็นธุรกิจที่วางรูปแบบในการกำหนดแนวทางและมาตรการที่เสนอแนะ แม้ว่าหลายคนจะมองว่าเป็นการสร้างดีมานด์ให้บริการของตน แต่อีกมุมก็มองว่าเป็นการทำให้ต้นทุนสิ่งแวดล้อมลดลง หรือจัดการให้ต้นทุนทางสังคมกลับไปเป็นต้นทุนที่แท้จริงของผู้ก่อกำเนิด หรือผู้ผลิต

วันนี้โลกเดินหน้าทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างรวดเร็วในทุกด้าน รวมทั้งพฤติกรรมผู้บริโภค ทำให้เรื่องต่าง ๆ ที่เคยอาจถูกละเลยจากทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิต และทิ้งให้เป็นต้นทุนของสังคมนั้น กำลังถูกจัดการให้กลับมาเป็นต้นทุนของผู้ก่อกำเนิดต้นทุนนั้น ซึ่งแน่นอนว่าจะเปลี่ยนพฤติกรรมด้านการบริโภคของผู้ซื้อ และการกำหนดกลยุทธ์ทางธุรกิจของผู้ผลิตในเรื่องนี้ 

สำหรับบ้านเรานั้น รัฐในฐานะผู้ดูภาพรวมจะจัดการให้ต้นทุนเหล่านั้นถูกแบกรับโดยผู้เกี่ยวข้องอย่างยุติธรรมอย่างไร น่าสนใจยิ่ง เพราะที่ผ่านมาเรื่อง พรบ. การจัดการซากผลิตภัณฑ์อิเล้กทรอนิกส์ ยังเถียงกันไม่จบ เพื่อโยนภาระต้นทุนสังคมให้กับคนที่มีอำนาจการต่อรองน้อยรับไป
ส่วนอุตสาหกรรมเสื้อผ้าในบ้านเรา แม้ว่าจะมีตลาดมือสอง ตลาดระดับรองลงไปรองรับมากจนอาจไม่ค่อยเห็นปัญหาเรื่องขยะเสิ้อผ้าเหมือนสหภาพยุโรป แต่ต้องเตรียมรับมือกับเงื่อนไขต่าง ๆ ในเรื่องซากเสื้อผ้าผ่านกติกาทางการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะผู้ส่งออกเสื้อผ้าไปต่างประเทศ ที่อาจเจอกฎ ระเบียบหยุมหยิม อาทิ การมีกระบวนการผลิตที่มีซากลดลง การออกแบบที่ทนทาน การใช้วัสดุและวัตถุสิ่งทอรีไซเคิล หรืออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลดปัญหาขยะเสื้อผ้าของประเทศลูกค้า เหมือน ๆ กับที่เราเคยเจอในอุตสาหกรรมอื่น ๆ มาแล้ว 

หากไม่เตรียมตัวแต่เนิ่น ๆ เดี๋ยวก็โวยวายว่าเป็นการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษีศุลกากร (NTM) แต่ก็ก้มหน้า ก้มตาทำต่อไป เพราะเขาง้อเขาซื้อ ครับ

 

ที่มา https://www.thansettakij.com/blogs/columnist/tell-as-you-see

รวบรวมข้อมูลภาพ https://harnhirun.net/

---------------------------------------------

สนใจเรื่องราวแหล่งเรียนรู้ออนไลน์เพิ่มเติมคลิกที่นี่

เล่าตามที่เห็นพูดตามที่คิด รวมบทความจากฐานเศรษฐกิจ

---------------------------------------------