เว็บไซต์​ ดร.สมชาย​ หาญ​หิรัญ​ ช่องทางอีกช่องทางหนึ่งในการแลกเปลี่ยนความคิด ความรู้และข่าวสารครับ

thzh-CNenja

เป้าหมาย “เกษตรอุตสาหกรรม” อยู่ที่เกษตรกร


วันนี้ ถ้ายังมีใครที่คิดว่าน่านมีเฉพาะ “กาแฟ” คงต้องคิดใหม่แล้วครับ เพราะเด็กหนุ่มที่ชื่อ “มนูญ ทนะวัง” และคู่ชีวิต “จารุวรรณ จิณเสน หรือ เจี๊ยบ” กำลังเปลี่ยนภาพให้น่านมีมากกว่ากาแฟ

เขาทิ้งอาชีพด้านการขุดเจาะปิโตรเลียมกับบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างชาติที่ใช้ความรู้ที่เรียนมาตรากตรำกับมันเป็นสิบปี และกลับบ้านเกิดเพื่อเริ่มต้นสิ่งใหม่ใน “บ้านเกิด” ที่เขารัก

จากวันนั้น ถึงวันนี้ เกือบสิบปีที่เขาได้สร้างธุรกิจขึ้นมาจากพืชผลที่เกษตรกรปลูกกันทั่วไปในจังหวัดน่าน แต่ไม่มีการต่อยอดให้มีมูลค่าสูง และเมื่ออยู่ในมือ “มนูญ” เขาได้สร้างพืชตัวนี้ให้กลายเป็นเศรษฐกิจตัวใหม่

โดยเขาใช้หลักการของการมองการพัฒนาที่ครบวงจร แบบ “เกษตรอุตสาหกรรม” คือมองการพัฒนาเชื่อมโยงตั้งแต่ภาคเกษตร การแปรรูป และการจัดจำหน่ายหรือการตลาด โดยไม่มีการแยกส่วน ทุกอย่างต้องสอดคล้องกัน ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ และตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ทุกคนเริ่มรู้จัก “โกโก้” น่าน ซึ่งเขาได้วางเรือธงธุรกิจไว้ที่ อำเภอปัว ซึ่งเป็นอำเภอที่ได้ชื่อว่าเป็นที่ต้นโกโก้ต้นแรกของประเทศถูกปลูกขึ้นที่นี้

ก่อนจะลงมือทำโกโก้ มนูญผู้ที่ถูกฝึกให้มีวิธีคิดที่เป็นระบบ ทุกสิ่งทุกอย่างต้องเชื่อมเข้าด้วยกัน และขั้นตอนต้องชัดเจนและมีประสิทธิภาพ ดังนั้น ก่อนลงมือทำ เขาจึงพยายามที่จะแสวงหาความรู้ทางด้านโกโก้อย่างจริงจัง ทั้งในเชิงธุรกิจ การผลิต

การเพาะปลูก เขาเดินทางไปหลายประเทศทั้งในยุโรป ซึ่งมีผู้คนชื่นชอบโกโก้และช็อกโกแลต แต่ไม่เห็นลูกผลโกโก้สด ไปแอฟริกา อเมริกาใต้ อินเดีย และอื่น ๆ เพื่อให้แน่ใจว่าตนเองเข้าใจในเรื่องโกโก้ตั้งแต่ต้นน้ำยันการตลาด โดยเครื่องมืออุปกรณ์ที่เขาใช้

เป็นเครื่องมือการแปรรูปที่ดีที่สุดที่หาได้จากยุโรป การแปรรูปที่หลากหลายซึ่งสามารถสร้างคุณค่าและมูลค่าให้กับโกโก้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้โดยมีการตลาดที่มีประสิทธิภาพเป็นตัวนำ จนเขามั่นใจว่าความรู้ เทคโนโลยี และการจัดการในทุกขั้นตอนตลอดห่วงโซ่มูลค่านั้น เขาสามารถนำไปใช้ในบริบทของธุรกิจเขาได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

การทำธุรกิจของมนูญและเจี๊ยบในวันนี้ คือการสร้างหัวขบวนรถจักรในการลากกิจกรรมทั้งห่วงโซ่คุณค่าของโกโก้ โดยหัวรถจักรนี้คือ ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปหลัก ได้แก่ ผงโกโก้ทุกรูปแบบ ผสมกาแฟ หรือผงแบบชงดื่มได้ ทั้งหวานกับน้ำตาลพื้นบ้าน และทุกอย่างเป็นออแกนิก นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์ที่เป็นเวชสำอางที่มาจากพืชผลโกโก้ ไม่ว่าครีม แชมพู สบู่ หรือแม้แต่ผ้าลายพื้นเมืองของน่านที่ใช้สีในการย้อมด้ายก่อนทอมือนั้นมาจากเปลือกและส่วนต่าง ๆ ของโกโก้ นับได้ว่าเป็นอัตลักษณ์ที่หาไม่ง่าย เพราะทำมาจากกลุ่มทอผ้าในอำเภอปัวนั่นเอง

เขาและเธอทำงานอย่างหนัก เพื่อมั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์ของเขานั้นจะติดตลาด และสามารถจำหน่ายในมูลค่าสูงได้ แต่ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เพื่อการทำกำไรให้กับตนเองมากขึ้น ทั้งหมดก็เพื่อให้เขาสามารถซื้อวัตถุดิบจากชาวบ้านในราคาสูง เพราะนี่คือความตั้งใจตั้งแต่แรกเริ่มที่เขาเดินทางกลับมาบ้านเกิด ก็เพื่อแบ่งปันความสุขและอนาคตด้วยกันกับชุมชนแห่งนี้ ชุมชนที่เขาถือว่าทุกคนในห่วงโซ่เขานั้นคือสมาชิกในครอบครัวที่ต้องแบ่งปันกัน

หากมองว่าหัวรถจักรคือ ช่องทางการหารายได้ที่เข้ามาให้ห่วงโซ่มูลค่า ผมมองว่าเขายังมีหัวรถจักรอีกหลายหัว อาทิ การเปิดรีสอร์ทในพื้นที่ของโกโก้วัลเล่ย์ ที่จากทุกห้องพักสามารถมองเห็นวิวที่สวยงามของอำเภอปัวและทิวเขาสุดลูกตา นอกจากนี้มีกิจกรรมท่องเที่ยวสวนโกโก้ กิจกรรมเรียนรู้การทำช็อกโกแลต และการเปิดร้านกาแฟร้านเล็กๆ ที่ชื่อ “โกโก้ วัลเล่ย์ คาเฟ่” ในบ้านเกิดของเขา

ซึ่งร้านนี้ใช้เป็นเวทีที่ให้ผู้คนที่มาเยือนได้มาสัมผัสเครื่องดื่มโกโก้ที่แท้จริงของน่าน ที่เมนูอาหารและขนมต่างๆ ที่ถูกออกแบบเป็นเอกลักษณ์เพื่อรองรับให้เหมาะสมกับผู้คนได้สัมผัสโกโก้คุณภาพเยี่ยมของน่าน หรือแม้แต่ฟองดูร์ช็อกโกแลตจากเครื่องปั้นหม้อฟองดูร์จากผู้คนในท้องถิ่น รวมทั้งสวนโกโก้ ที่ให้ผู้มาเยือนสัมผัสผลสดของโกโก้ ทำให้หลายคนได้รู้ว่าไม่เหมือนเมล็ดกาแฟเลยแม้แต่น้อย

วิธีคิดของเขาในการทำธุรกิจของเขาในปัจจุบันก็คือ เกษตรอุตสากรรม ที่เชื่อมโยงทุกกิจกรรมเข้าด้วยกันและมีชุมชนเป็นเป้าหมาย และเขาใช้ “ใจ” ในการเชื่อมโยงเข้ากับชุมชน อาทิเช่น หลังจากคั่วโกโก้แล้ว ก็ให้ชาวบ้านทำการฝัดกระด้งเพื่อคัดแยกเปลือกกับเมล็ดออกจากกัน ซึ่งกระบวนการนี้สามารถทำด้วยเครื่องจักรได้และต้นทุนถูกกว่าใช้คน แต่มนูญเลือกที่จะให้ผู้สูงอายุทำแทน

เขาบอกผมว่าเขาให้ผลตอบแทนเป็นรายเดือน ไม่มีการชั่งน้ำหนัก หรือตวงวัดจากงานที่ทำแต่อย่างใด และทำเพียงครึ่งวันเช้า เพราะกลัวว่าผู้สูงอายุจะทำงานหนักเกินไป มนูญเล่าให้ฟังด้วยสายตาที่อิ่มสุขว่า อย่างน้อยกลุ่มผู้สูงอายุเหล่านี้ก็พอมีเงินให้หลานไปโรงเรียน หรือทำบุญ และนี้คือความภาคภูมิใจและมีความสุขที่มาจากน้ำพักน้ำแรงของตนเอง รวมทั้งรู้สึกถึงคุณค่าของตนเองที่มีต่อชุมชน และไม่ใช่อาศัยอยู่ได้แค่จากเบี้ยคนชรา

ผลผลิตโกโก้ปกติจะออกทั้งปี แต่ถ้าในช่วงฤดูหนาวก็จะออกมากเป็น 3 เท่าซึ่งจะรับซื้อทั้งหมดของเครือข่ายกว่าเดือนละกว่า 1 ล้านบาท ซึ่งทำให้เขาและเจี๊ยบ ต้องทำงานอย่างหนัก ทั้งการจัดการวางแผนรับซื้อ การพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูป และการขยายตลาด ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ให้ขายได้มาก แต่ต้องมีราคาที่ดี เพื่อส่งต่อให้ชุมชนได้มากขึ้นและเป็นการวางรากฐานที่มั่นคงให้ห่วงโซ่อุปทานของเขาในการขยายธุรกิจโกโก้ต่อไป ซึ่งเขาบอกผมว่า ณ ตอนนี้มีกว่าสองร้อยครอบครัวที่เขาต้องดูแลและถือว่าทั้งหมดเป็นสมาชิกในครอบครัวที่ร่วมหัวจมท้ายในการสร้าง “โกโก้น่าน” ในระยะยาวไปกับเขา

เมื่อถามว่า อะไรที่ทำให้เขาทำรูปแบบธุรกิจที่เกื้อกูลต่อชุมชนตั้งแต่การซื้อโกโก้ในราคาสูงกว่าตลาด มีกิจกรรมมากมายในห่วงโซ่ธุรกิจเชื่อมกับชุมชน แม้ว่าต้นทุนจะสูงกว่าธุรกิจแบบทั่วไป เขาตอบผมด้วยสายตาและน้ำเสียงที่เปี่ยมสุขว่า “ฝันของผมคือ แบ่งปันความสุขกับผู้คน ส่วนกำไรและรายได้ ก็เป็นเพียงแค่เครื่องมือที่จะช่วยให้ผมแบ่งปันความสุขให้ผู้คนในบ้านเกิดผมมากขึ้นเท่านั้น ไม่ใช่เป้าหมาย”

หากใครมีโอกาสไปน่าน ต้องหาเวลาแวะที่ “โกโก้ วัลเล่ย์” อำเภอปัว เพื่อดูว่า เป้าหมายการพัฒนาตามวิถีเกษตรอุตสาหกรรม อยู่ที่เกษตรกร และสำหรับ “มนูญ ทนะวัง” ทั้งหมดที่เขาทำก็เพื่อความรักที่มีต่อชุมชนและบ้านเกิดของเขา

ที่มา https://www.thansettakij.com/blogs/business/economy/543744