เว็บไซต์​ ดร.สมชาย​ หาญ​หิรัญ​ ช่องทางอีกช่องทางหนึ่งในการแลกเปลี่ยนความคิด ความรู้และข่าวสารครับ

thzh-CNenja

เล่าตามที่เห็นพูดตามที่คิด ภาษีรักบ้านเกิด: ถ้าจะเกิด ต้องอยู่ในมือคนคิดใหม่จริง ๆ

ที่มา https://www.thansettakij.com/blogs/columnist/tell-as-you-see/561688

ที่ผ่านมา ประเทศไทยพยายามที่จะกระจายอำนาจการบริหารลงไปสู่ระดับท้องถิ่นให้มากขึ้น แต่มีสิ่งหนึ่งที่ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเหล่านี้มีปัญหาในการดำเนินงานมากก็คือรายได้ของตนเอง

โดยในปัจจุบันจะมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตั้งแต่ระดับ ตำบล เทศบาล เมือง จังหวัด และนคร ซึ่งอยู่ในรูปแบบต่าง ๆ กว่า 7,580 แห่ง แต่มีการจัดเก็บรายได้ของตนเองตามที่กฏหมายระบุไว้ได้เพียง 6,100 ล้านบาท ซึ่งไม่พอกับการดำเนินงาน 

แต่รายได้ส่วนใหญ่ได้มาจากการแบ่งการจัดเก็บจากรัฐบาลกลางในกิจการในพื้นที่ขององค์กรนั้นอีก 85,335 ล้านบาท และรายได้จากเงินอุดหนุนจากรัฐบาลกลางอีก 103,175 ล้านบาท 
รวมแล้วองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีรายได้ทั้งสิ้น 194,610 ล้านบาท โดยจะเห็นได้ว่ารายได้ที่จะนำไปเป็นงบในการดำเนินงานนั้นเป็นงบที่ได้รับการจัดสรรจากส่วนกลางกว่า 95% 

ผมเห็นพรรคการเมืองหลาย ๆ พรรคกำลังสนใจในการกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่นในด้านต่าง ๆ เพื่อให้มีบทบาทในการพัฒนาท้องถิ่นตนเองมากขึ้นกว่าปัจจุบัน แต่อยากจะฝากไว้อย่างหนึ่งก็คือ การแก้กฎหมาย ระเบียบการบริหาร หรืออำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเท่านั้นยังไม่พอ 

ต้องดูเรื่องแหล่งที่มาของรายได้ท้องถิ่นที่จะใช้ในการพัฒนาสาธารณูปโภคและอื่น ๆ ในท้องถิ่นเองด้วย เพราะจากโครงสร้างเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันที่ประชากรในภูมิภาคลดลงอย่างมาก การอพยพมาทำงานในเมืองใหญ่ ๆ ธุรกิจลดลงเนื่องจากประชากรลดลง 

รวมทั้งประชากรที่มีการศึกษา แรงงานที่ทำรายได้ ก็อพยพย้ายภูมิลำเนาไปในเมืองใหญ่ ๆ ทิ้งไว้เฉพาะพ่อ แม่ ปู่ย่า ตายาย ในพื้นที่ นอกจากนี้ ธุรกิจใหญ่ ๆ ที่มีสาขาตนเองในพื้นที่ก็จะมีการจัดทำบัญชีแบบรวมรายได้ไว้ในส่วนกลางทำให้ภาษีรายได้ต่าง ๆ ตกเป็นของเมืองใหญ่ ทำให้ท้องถิ่นไม่สามารถเก็บภาษีท้องถิ่นได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย จึงมีรายได้ไม่เพียงพอในการจัดทำบริการสาธารณะต่าง ๆ รวมทั้งการพัฒนาท้องถิ่น 

ข้อจำกัดของงบประมาณของท้องถิ่นทำให้หลายประเทศ หันมาทดลองใช้ภาษีบ้านเกิด (Hometown Tax) เพื่อช่วยลดข้อจำกัดด้านงบประมาณของท้องถิ่นในการพัฒนาที่เร่งด่วน และเป็นการช่วยลดความเหลื่อมล้ำของการพัฒนา อาทิ ประเทศญี่ปุ่น เกาหลีที่กำลังจะลองใช้กับเกาะเซจู และหลายประเทศกำลังทดลองใช้ในบางพื้นที่กันอยู่ 

โดยหลักการนั้น ให้ท้องถิ่นเสนอโครงการพัฒนาท้องถิ่นที่ชัดเจน ระยะเวลาในการดำเนินงาน งบประมาณ แล้วเสนอให้ผู้คนจากเมืองนั้นที่ย้ายถิ่นฐานมาทำงานในเมืองอื่น แต่ยังอยากเห็นท้องถิ่นตนเองพัฒนา (หรือท้องถิ่นอื่น ๆ) ก็สามารถสนับสนุนเงินให้กับโครงการเหล่านี้ได้ 

และนำเงินจำนวนนั้นใช้ในการหักลดหย่อนภาษีเงินได้และภาษีอื่น ๆ ตามที่กำหนดให้ (ซึ่งผมว่าก็คล้าย ๆ กับการลดหย่อนที่เรามี อาทิ บริจาคการกุศล บริจาคโรงเรียน หรือค่าฝึกอบรมแรงงาน  หรือค่าเลี้ยงดูพ่อแม่ ฯลฯ) แต่กรณีนี้เป็นการเจาะจงไปสู่โครงการพัฒนาในพื้นที่บ้านเกิดตนเองหรือท้องถิ่นที่ตนรัก

ความสามารถในการระดมหางบประมาณจากคนรักบ้านเกิดหรือคนที่รักเมืองนั้น สามารถบริจาคเงินช่วยเหลือสนับสนุนในโครงการพัฒนาของท้องถิ่นที่นำเสนอนั้น และนำไปลดหย่อนภาษีเงินได้หรือภาษีอื่น ๆ ตามที่กำหนด โดยผู้บริจาคเป็นทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ซึ่งรัฐจะกำหนดยอดเพดานของเงินบริจาคไม่เกิน 30% ของรายได้ในปัจจุบัน ทำให้ยอดบริจาคสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี 

ล่าสุดข้อมูลปี 2564 ในขณะที่เกิดการกระจายของไวรัส COVID ยอดบริจาคยังสูงถึง 6 แสนล้านเยน และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ  
 

การที่มียอดเงินบริจาคสูง และมีผู้บริจาคมากกว่า 3 ล้านรายการนั้น ก็เพราะทางจังหวัดหันมาโปรโมทผลิตภัณฑ์ชุมชนของตนเองประกอบกัน โดยจะสมนาคุณให้กับผู้บริจาคเงินเป็นสินค้าที่ผลิตในชุมชนตามมูลค่า โดยไม่เกิน 30% ของเงินบริจาค ทำให้ธุรกิจท้องถิ่น ผลิตภัณฑ์ชุมชนมีช่องทางระบายสินค้าอีกทางหนึ่ง 

ในขณะเดียวกันคนที่จากบ้านเกิดก็รู้สึกได้ตอบแทนบุญคุณ ดีใจ ที่เห็นความเจริญของท้องถิ่นบ้านเกิด การสร้างงาน การสร้างธุรกิจขนาดเล็กในพื้นที่เพิ่มขึ้น ซึ่งแบบนี้ผมว่าน่าจะเป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและความส่งเสริมเป็นอยู่ของท้องถิ่นได้ดีและมีประสิทธิภาพมากกว่าระบบจัดสรรรายได้แบบเดิม

แต่หากนำมาใช้ในประเทศไทย สิ่งที่เสนอก็คือ งบประมาณที่มานั้นไม่ต้องเป็นเงินบริจาคโดยตรงจากผู้บริจาค แล้วค่อยนำไปเป็นค่าลดหย่อนภาษีเงินได้หรืออื่น ๆ แต่เป็นเงินภาษีที่ผู้มีเงินได้หรือนิติบุคคลนั้น ๆ เสียให้รัฐ 

แต่แสดงเจตจำนงค์ในการแบ่งส่วนหนึ่งของภาษีจำนวนนั้นไปให้กับท้องถิ่นบ้านเกิดตัวเอง (เหมือนกับที่ถูกถามว่าจะแบ่งไปให้พรรคการเมืองพรรคไหนบ้าง) ซึ่งแน่นอนทางกระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณคงไม่ค่อยจะยินดีนัก เพราะความเคยชินก็คือ รวบเงินไว้กองเดียวหมดแล้วค่อยแจกจ่ายให้ไปตามคำขอหรือตามประวัติที่เคยได้ เรียกว่า ใครเสียงดังก็ได้เยอะ หรือใครเคยได้เยอะก็ได้เยอะต่อไป ท้องถิ่นที่ล้าหลัง จมในโคลน ก็ไม่มีโอกาสโผล่หัวขึ้นมา แม้ว่าอาจมีผู้บริหารที่ดี มีวิสัยทัศน์ก็ตาม  

อย่างไรก็ตาม หากมีภาษีรักบ้านเกิดจริง ๆ สิ่งที่น่าปวดหัวคือ คุณภาพและความสะอาดของการบริหารจัดการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยต้องมีคุณภาพพอเริ่มจากการกำหนดกิจกรรมที่จำเป็น เร่งด่วน มีผลประโยชน์ต่อเนื่องในวงกว้างให้กับชุมชนในพื้นที่ และความโปร่งใสของผู้บริหารองค์กรส่วนท้องถิ่นในการจัดการกับเงินของผู้ที่รักบ้านเกิดมอบให้ 

ซึ่งเรื่องนี้ผมยังคิดว่าจะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้คนในท้องถิ่นเลือกตั้งผู้บริหารของตนเองอย่างชาญฉลาดและมีความรับผิดชอบมากขึ้น เพราะต่อไปนี้หากเลือกคนเลว คนโกง ท้องถิ่นคุณก็จน ล้าหลัง พัฒนาช้ากว่าที่อื่น ๆ จะหันหน้าหรือชี้นิ้วด่าใครไม่ได้นอกจากตนเอง 

ผมว่าก็น่าลองดู ไม่งั้นเราก็ไปแบบที่รู้ ๆ ที่เห็น ๆ เหมือนที่ผ่านมา แต่คราวนี้ ผมอยากเห็นนักการเมืองคิดใหม่ ๆ นโยบายใหม่ ๆ ที่ดี ที่ให้โอกาสประเทศเดินหน้าในบริบทใหม่ดู ถึงแม้ว่าเห็นหน้าตาผู้สมัครที่มีโอกาสชนะเลือกตั้ง และมานั่งบริหารประเทศจะมีหน้าตาเดิม ๆ ก็ตาม